วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

ดัน‘พงศ์เทพ’ช่วยสุรพงษ์ ข่าวหน้า 1 8 January 2556



"ยิ่งลักษณ์” วอนอย่าดึงคดีรอบนอกปราสาทพระวิหารมาเป็นเรื่องการเมือง ยันเดินหน้ารักษาผลประโยชน์ของชาติ หวั่น "ปึ้งศักดิ์” สู้คดีมั่วส่ง "พงศ์เทพ” ตามประกบศึกษาข้อกฎหมาย ขณะที่ "ซีไอเอสงค์” เตรียมร้องผู้นำเหล่าทัพและประธานศาลฎีกาออกมาหยุดรัฐบาล
    น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันจันทร์ถึงการชุมนุมของกลุ่มคนไทยรักชาติ รักษาแผ่นดิน กรณีปราสาทพระวิหาร ว่าคงต้องขอร้อง การชุมนุมขอให้ทำโดยความสงบ และประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหาร ต้องขอความกรุณาว่าเราอย่าพูดเป็นประเด็นทางการเมืองเลย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญของประเทศ รัฐบาลยืนยันในการต่อสู้เพื่อปกป้องอธิปไตยอย่างเต็มที่
    ผู้สื่อข่าวถามว่า จะถือโอกาสคุยกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรี กัมพูชา โดยใช้ความสนิทสนมส่วนตัวหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์บอกว่า ขอเรียนว่า งานบางอย่างเราใช้ความรู้จักกันส่วนตัว เราคุยได้ในลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เรื่องส่วนตัวไม่มีอะไรที่จะมาลบล้างความสำคัญของผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นที่ตั้ง 
    "สิ่งสำคัญ เรื่องต่างๆ ของปราสาทพระวิหารขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคดีความ คงต้องว่าไปตามขั้นตอนของกฎหมายด้วย แต่เราเองได้ให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมาย รับผิดชอบดูกรณีข้อพิพาทนี้ร่วมกับ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ”
    นายกฯ ย้ำว่า ทุกประเทศต้องปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติของตนเอง ดังนั้นทุกอย่างคงต้องว่าไปตามขั้นตอน แต่เราต้องทำในขั้นตอนของประเทศไทยให้ดีที่สุด และเราก็พยายามอาศัยความสัมพันธ์ทางการทูต ให้การพิจารณาต่างๆ นั้นเป็นไปอย่างสงบให้มาก ไม่อยากให้บรรยากาศแนวชายแดนมีบรรยากาศที่ตึงเตรียด ดังนั้น จึงขอร้องไม่ให้ปัญหานี้เป็นปัญหาการเมือง สิ่งที่เราต้องการคือ ทำอย่างไรจะร่วมกันรับฟังข้อคิดเห็น และสรรพกำลังที่จะต่อสู้แก้ไขและปกป้องอธิปไตยให้ดีที่สุด
    เมื่อถามว่า ทีมโฆษกที่นายกฯ ต้องการตั้งขึ้นมาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน จะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อันนี้คงเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ ที่สามารถตั้งผู้ที่จะเป็นโฆษกอธิบายได้ ซึ่งวันนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศ และนายพงศ์เทพ ได้มีการประชุมหารือกันอย่างต่อเนื่องกับทีมที่ปรึกษาต่างประเทศอยู่แล้ว และเมื่อมีวาระสำคัญที่จำเป็นต้องตัดสินใจ คงต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกรัฐสภารับทราบ และได้ชี้แจงข้อคิดเห็นต่างๆ เพราะถือว่าเป็นวาระที่ทุกคนต้องร่วมกันคิด
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวว่ารัฐบาล, กระทรวงการต่างประเทศ และทหาร ต่างก็ทำหน้าที่ตนเอง โดยแบ่งหน้าที่กันทำ ไม่ใช่ไม่มีใครไม่ทำ แต่อย่าทำให้เป็นเรื่องการเมือง แต่เรื่องทำความเข้าใจกับกลุ่มมวลชนที่จะออกมาเคลื่อนไหวนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของทหาร เพราะทหารทำหน้าที่ของตนเองในการดูแลพื้นที่ ซึ่งตนมีหลักการในการดูแลตามกติกา หน้าที่ กฎหมาย และขอบเขตแผนที่ที่เรามีอยู่
    เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ว่ากองทัพจะเป็นหลักในการดูแล ไม่ให้มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางทะเลตามที่มีข่าว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพ และไม่ใช่หน้าที่ของตนที่จะออกมายืนยัน เพราะหน้าที่ทุกอย่างเป็นหน้าที่ของ 1.ฝ่ายบริหารมีหน้าที่ดำเนินการอะไร และ 2.ฝ่ายความมั่นคงมีหน้าที่ดำเนินการอะไร ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา คือเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและกติกาที่มีอยู่ 
    "ผมคงจะไม่พูดว่าจะเอื้อประโยชน์อะไรให้กับใคร ซึ่งไม่ได้เป็นการปกป้อง และไม่ได้ปัดความรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น วันนี้ลูกน้องของผมก็เสี่ยงชีวิตยืนหยัดอยู่ตลอดแนวชายแดน ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็มีทหารอยู่เสมอ และขณะนี้ก็มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนมาช่วยกันดูแล” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ต่อข้อถามที่ว่า สามารถประเมินสถานการณ์ได้หรือไม่ว่า ขณะนี้มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ และไม่มีการประเมิน ส่วนการเตรียมพร้อมดูแลอธิปไตยนั้น การปฏิบัติการของทุกกองกำลังมีอยู่แล้วทุกพื้นที่ มีพื้นที่หลายพื้นที่ที่ไม่ชัดเจนเรื่องตามกติกาของเจบีซี แต่ก็มีการพูดคุยกันมาตลอด ไม่มีการขัดแย้ง ทุกพื้นที่มีการเตรียมการ ทั้งเรื่องการใช้กำลัง การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน และการจัดตั้งหมู่บ้านคู่ขนานตามแนวชายแดน เป็นสิ่งที่เราต้องการลดปัญหาบริเวณชายแดน
    ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภาที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นประธาน โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ โดย พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่าประเด็นการแถลงปิดคดีเขาพระวิหารต่อศาลโลก ตามที่ประเทศกัมพูชาได้ยื่นฟ้องต่อศาลโลก ขณะนี้พบว่ามีบุคคลและกลุ่มบุคคลให้ความเห็นทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่มีทั้งการสนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งล้วนแล้วมีความปรารถนาดี
    ทั้งนี้ การให้ข้อเท็จจริงและแง่มุมกฎหมายต่อสาธารณะดังกล่าว จะมีผลต่อรูปคดีที่ไทยเสียเปรียบ ดังนั้น ตนขอเสนอให้รัฐบาลใช้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รวบรวมข้อเสนอแนะต่อการเตรียมการแถลงปิดคดีปราสาทพระวิหารต่อศาลโลก ตามที่รัฐบาลและนายกฯ มีอำนาจตามกฎหมายสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพราะเชื่อว่าหากใช้เวทีสภาความมั่นคงฯ นั้น จะทำให้เกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกมาระบุว่า การที่รัฐบาลไม่ไปศาลโลกและไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลโลก ซึ่งถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็อาจจะเป็นข้ออ้างที่ทำให้องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ยกกำลังทหารเข้ามาในประเทศไทยได้นั้น ว่า ตนไม่รู้ว่าทำไมวันนี้นายสุรพงษ์จึงสนใจ UN มาก นึกว่าไม่ใช่พ่อหรือไม่ใช่ปู่ ซึ่งประเด็นเรื่องศาลโลกนั้นก็คงต้องไปดูว่าขอบเขตเป็นอย่างไร แล้วก็ไปดูประวัติของการตัดสินของศาลโลกในเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับอธิปไตย ว่าการปฏิบัติของประเทศต่างๆ เป็นอย่างไร ซึ่งเราก็ไปต่อสู้ให้ดีที่สุด 
    "เพราะฉะนั้น นายสุรพงษ์ก็ต้องไปทำให้ชนะคดี ปัญหาก็ไม่เกิด และต้องอย่าให้คนสงสัยว่าสู้จริงหรือเปล่า เพราะท่าทางนายสุรพงษ์มีความรู้สึกว่า  ถ้ามันแพ้ก็จะโยนความผิดให้กับคนอื่น และที่สำคัญ รัฐบาลไปสนใจเรื่องของผลประโยชน์ในเรื่องทะเลมากเกินไปหรือไม่” นายอภิสิทธิ์กล่าว
    น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานที่ปรึกษาแนวร่วมคนไทยหัวใจรักชาติรักแผ่นดิน กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ทางสถานีวิทยุคลื่นเอฟเอ็ม 97 เมกะเฮิรตซ์ ว่ากรณีปราสาทพระวิหารจะทำให้คนไทยแต่ละกลุ่มออกมาต่อสู้ในปัญหาเดียวกันในไม่ช้านี้ ตนหวังพึ่งประชาชนทุกกลุ่ม ที่พร้อมออกมาอาสาปกป้องชาติและแผ่นดิน โดยวันที่ 8 ม.ค.นี้ แกนนำพันธมิตรฯ จะยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 
    ส่วนวันที่ 14 ม.ค.นี้ ตัวแทนแนวร่วมคนไทยฯ จะยื่นหนังสือประท้วงไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก จากนั้นวันที่ 21 ม.ค. จะนัดชุมนุมและยื่นหนังสือถึงผู้นำเหล่าทัพและประธานศาลฎีกา หลังจากที่ได้รวบรวมรายชื่อคนไทยกว่า 5 แสนคน ที่มีมติว่ายอมรับเรื่องนี้ไม่ได้ และขอให้กระบวนการยุติธรรมและความมั่นคงควรหยุดคิดและหาทางช่วยเหลือเรื่องนี้
    ถามว่า จะชุมนุมต่อเลยหลังการยื่นหนังสือแล้วหรือไม่ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ยังตอบอะไรไม่ได้ เพราะต้องดูสถานการณ์และคนที่มาชุมนุม คนไทยต้องไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลโลก เพราะไทยได้ออกจากภาคีนี้นานแล้ว แต่นักการเมืองบางคนนำกลับเข้าไปอีก คนไทยจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของรัฐบาลในกรณีนี้     
    เมื่อถามว่า แสดงว่าต้องการให้ตุลาการภิวัฒน์กลับมา และรวมทั้งอยากให้ทหารมาหยุดรัฐบาลอีกครั้ง น.ต.ประสงค์กล่าวว่า "วิเคราะห์ได้อย่างนั้น หน้าที่ของทหารนั้นก็อ่านได้ในรัฐธรรมนูญ พวกผมจะไปบอกกับ 2 กลุ่มนี้ว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง”
    นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ กล่าวถึงกรณีปราสาทพระวิหารว่า รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลการไปสู้คดีในศาลโลก เพราะศาลไม่ได้ห้าม และประเทศกัมพูชาเองเขาก็เปิดเผยได้ รัฐควรรีบนำข้อสงวนสิทธิ์ที่เคยทำกับยูเอ็น ในการเรียกตัวปราสาทคืนจากเขมร วิธีนี้จะสามารถแก้เกมกับเขมรได้ในขณะนี้  
     "เพราะที่ผ่านมา ประเทศกัมพูชามักจะระบุว่าไทยไม่ยอมใช้สิทธิ์ ข้อสงวนสิทธิ์นี้เองที่สำคัญ กัมพูชากลัวที่ไทยจะใช้ข้อสงวนสิทธิ์นี้ เนื่องจากรัฐบาลไทยในสมัยนั้นได้ส่งหนังสือไปยังเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลก โดยอ้างว่าคำพิพากษานั้นขัดต่อกฎหมายและความยุติธรรม นอกจากนี้ ยังสงวนสิทธิ์ที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคตด้วย เพื่อกั้นรั้งไว้ในการต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมาย ในอนาคต แต่ขณะนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ยอมเรียกคืนข้อสงวนสิทธิ์ดังกล่าว เ พราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์" นายเทพมนตรีกล่าว  
     นายเทพมนตรีกล่าวว่า ในเร็วๆ นี้จะมีการเคลื่อนไหวยกเลิกเอ็มโอยู 43 ซึ่งจะเป็นแนวทางทางการเมืองมากกว่าการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น