วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

ทักษิณคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อไทยทำให้คนโกงกลับมา เมื่อ 7 ม.ค.56



ความจริงเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า รัฐบาลเพื่อไทย มีวัตถุประสงค์อะไรในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร แม้ก่อนหน้านี้พยายามปกปิดความต้องการ โดยอ้างว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ยกร่างเอง โดยที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเสียงข้างมากในสภา มีหน้าที่เพียงแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร.เท่านั้น 
    การตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ถือเป็นสถานการณ์ที่เป็นกรณีเฉพาะ เช่นสังคมตกผลึกร่วมกันว่าจะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่นการเกิดของรัฐธรรมนูญ 2540 หรือแม้กระทั่งการเกิดของรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหาร เช่นรัฐธรรมนูญ 2550 ล้วนเป็นกรณีเฉพาะ แต่ความต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองสูงนั้น มิใช่ความต้องการของประชาชนแม้แต่น้อย แต่เป็นความอยากเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น 
    ขณะที่วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ลงตัว แต่เนื้อหาเริ่มจะลงตัวแล้วว่า รัฐบาลเพื่อไทยจะแก้ไขมาตราใด หมวดใด เพื่ออะไรบ้าง จริงอยู่อาจอ้างได้ว่า ที่ต้องพิจารณาว่าจะแก้ไขมาตราใดบ้าง เพราะสุดท้ายแล้วอาจเลือกแก้ไขโดยรัฐสภา ผิดกับการตั้ง ส.ส.ร.ที่ยกร่างทั้งฉบับ และรัฐสภามีหน้าที่แค่โหวตรับหรือไม่รับเท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปกำหนดเนื้อหาการแก้ไขได้ 
    ข้ออ้างดังกล่าวมีการนำมาใช้บ่อยครั้ง แต่ซ่อนเงื่อนไว้มากมาย เพราะสุดท้ายแล้วการมี ส.ส.ร.อาจแก้เฉพาะบางมาตราหรือทั้งฉบับก็ได้ ฉะนั้น การที่รัฐบาลเพื่อไทยและเครือข่ายในรัฐสภาออกมาพูดถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ต้องแก้ไข นั่นคือการส่งสัญญาณให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริง และโฉมหน้าที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าเป็นอย่างไร
    เรารับทราบไปแล้วว่า เนื้อหาที่เสนอโดยร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี นั้นมีอะไรบ้าง ทำลายระบบตรวจสอบอย่างไร มาถึงคิวของ คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร  ที่มีนายโสภณ เพชรสว่าง แกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน สรุปแนวทางแก้ไขออกมาตามที่คาดการณ์เอาไว้ 
    เสนอยุบศาลรัฐธรรมนูญ แล้วกลับไปใช้ตุลาการรัฐธรรมนูญให้มีอำนาจเพียงการตีความกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือการขัดกันระหว่างหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องของการยุบพรรค โดยที่มาของตุลาการรัฐธรรมนูญมาจากการคัดเลือกของรัฐสภา เหตุผลที่เสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ เพราะปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจมากเกินไป นำไปสู่ตุลาการภิวัฒน์ ทำให้ถูกมองว่าศาลเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง จึงควรกลับไปสู่จุดเดิม โดยให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4-5 ปี
    ยกเลิกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินคดีที่เกี่ยวกับการเมืองแทน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก ที่มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงไม่เป็นธรรมในการตัดสินคดีที่ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ และอาจจะมีการเมืองเข้ามาแทรกแซง จึงควรให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ตัดสิน และให้ยุบผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยให้ศาลปกครองเป็นผู้ทำหน้าที่แทน
    ลดอำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  จากเดิมหลังจากที่ ป.ป.ช.ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดฟ้องศาล หากอัยการสูงสุดมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง ป.ป.ช. ก็สามารถยื่นฟ้องเองได้ โดยแก้ไขให้อำนาจการสั่งฟ้องอยู่ที่อัยการสูงสุดเท่านั้น ป.ป.ช.ไม่สามารถยื่นฟ้องได้
    ยกเลิกมาตรา 309 เพราะเป็นมาตราที่สนับสนุนการทำรัฐประหารโดยไม่มีความผิด จึงต้องยกเลิก เพื่อไม่ให้มีการทำรัฐประหาร โดยจะเขียนให้ชัดเจนว่าอำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหารถือว่าเป็นการได้มาซึ่งอำนาจโดยมิชอบ แต่จะไม่มีผลย้อนหลังกับคดีความที่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตัดสินไปแล้ว ส่วนคดีที่ยังไม่ตัดสินก็ให้สู้คดีกันไป ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีพ้นผิด 
    นั้นคือหัวเชื้อที่นำเสนอกันออกมา ทุกประเด็นล้วนทำลายความเข้มแข็งของระบบตรวจสอบเพื่อนักโกงเมืองทั้งสิ้น ขณะที่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย การมุ่งกำหนดเอาว่าจะแก้ไขอะไร แต่ปากอ้างว่าแล้วแต่ ส.ส.ร. สภาไม่มีสิทธิชี้นำ เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยวิธีใด ผู้กำหนดประเด็นคือรัฐบาลเพื่อไทย และเมื่อพูดถึงสิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำ ก็ต้องเป็นสิ่งที่ทักษิณคิดเท่านั้น ไม่มีทางเป็นอย่างอื่นไปได้เลย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น